ในฟุตบอลยุคนี้หากจะเอ่ยถึงนักเตะพรสวรค์ ที่สามารถเปลี่ยนเกมและผลการแข่งขันได้ด้วยปลายสตั๊ด นักเตะผู้เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความจงรักภักดีต่อต้นสังกัดก็อาจจะนึกชื่อไม่ออกสักเท่าไหร่ แต่หากย้อนกลับไปยุคต้นๆของศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เราอาจได้เห็นนักเตะประเภทดังกล่าวอยู่ไม่น้อย ซึ่งนับเป็นเสน่ห์อีกหนึ่งอย่างของฟุตบอลลีกที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดในโลก
เกาะ เกิร์นซีย์ จุดกำเนิดพ่อมดลูกหนัง
ย้อนไปไกลหน่อยราวๆ 20-30 ปีที่แล้ว ที่โลกโซเชี่ยลยังไม่ตั้งไข่ นักฟุตบอลคนใดที่ได้รับสมญานามว่าเป็นพ่อมด ย่อมมีของดีอยู่ในตัว และมักจะพิสูจน์ให้เห็นว่า ชื่อเล่นดังกล่าวไม่ได้ได้มาเพราะโชคช่วย
ดั่งเช่น ปีกพ่อมด ที่เป็นฉายาของ ไรอัน กิ๊กส์ ตำนานปีกทีมชาติเวลส์ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่หากจะพูดถึงพ่อมดลูกหนังอีกหนึ่งรายในยุคก่อนหน้านั้นเล็กน้อย คอบอลอังกฤษ ก็คงต้องตอบเป็นเสียงเดียวกัน นั่นก็คือชื่อของ แม็ทธิว เลอ ทิสซิเอร์ มิดฟิลด์ตัวรุกผู้เป็นสัญลักษณ์ของ เซาธ์แฮมป์ตัน ทีมดังแดนปักษ์ใต้ของเกาะอังกฤษ
เลอ ทิสซิเอร์ เกิดที่ เกิร์นซีย์ เกาะเล็กๆขนาด 65 ตารางกิโลเมตรที่อยู่ใกล้กับพรมแดนของฝรั่งเศส เลอ ทิสซิเอร์ เริ่มเล่นฟุตบอลครั้งแรกที่เกาะแห่งนี้ และเล่นฟุตบอลกับทีมท้องถิ่น ก่อนจะออกจากเกาะไปผจญภัยในเกาะอังกฤษ และได้รับการเซ็นสัญญาเข้าทีมเยาวชนของ เซาธ์แฮมป์ตัน ในวัย 17 ปี
สโมสรแรกและสโมสรสุดท้ายในชีวิต
และเพียงปีเดียว เลอ ทิสซิเอร์ ก็ถูกดันขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่ได้สำเร็จในฤดูกาล 1986-87 ภายใต้การคุมทีมของ คริส นิโคล กุนซือชาวไอร์แลนด์เหนือ และในฤดูกาลแรก เลอ ทิสซิเอร์ ซัดไปถึง 6 ประตูจาก 24 นัด โดยหนึ่งในนั้นคือการตะบันแฮตทริคใส่ เลสเตอร์ ซิตี้
หลังจากนั้นไม่นาน เลอ ทิสซิเอร์ ก็ค่อยๆกลายเป็นนักเตะคนสำคัญของทีม ระเบิดฟอร์มยิงไปถึง 20 ประตูในฤดูกาล 1989-90 รั้งอันดับ 3 ดาวซัลโวร่วมของลีก ทั้งที่เล่นในตำแหน่งกองกลางพร้อมช่วยให้ เซาธ์แฮมป์ตัน จบในอันดับ 7 ของตาราง ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดในรอบ 5 ปี เท่านั้นยังไม่พอเมื่อ เลอ ทิสซิเอร์ ได้รับเลือกให้เป็นนักเตะดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งปีของดิวิชั่น 1 พ่วงด้วยรางวัลผู้เล่นผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปีของทัพ นักบุญแดนใต้ ในฤดูกาลดังกล่าวด้วย
เลอ ทิสซิเอร์ เปรียบเสมือนลมหายใจและเป็นผู้นำแห่งถิ่น เดอะ เดลล์ ณ ตอนนั้น แม้จะไม่ใช่กองหน้าโดยธรรมชาติ แต่ เลอ ทิสซิเอร์ สามารถทำประตูได้แทบทุกรูปแบบแล้วแต่จินตนาการจะพรั่งพรูออกมา ทั้งการยิงไกล วอลเลย์ ลากเลื้อยหลบฝูงคู่แข่ง จุดโทษ ฟรีคิก หรือแม้แต่เตะมุม พี่แกทำให้เห็นทำมาหมดแล้ว เขากลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของสโมสร ทั้งตัวสร้างสรรค์เกม ตัวจบสกอร์ เรียกได้ว่าเป็นผู้เล่นที่ เซาธ์แฮมป์ตัน ขาดไม่ได้ แถมยังเต็มเปี่ยมไปด้วยบารมี ความเป็นผู้นำ โดย เลอ ทิสซิเอร์ มักจะยิงได้เกิน 10 ประตูเกือบทุกฤดูกาลในช่วงยุค 90 โดยในฤดูกาล 1993-94 เลอ ทิสซิเอร์ กระหน่ำไปถึง 25 ประตูจากการลงสนาม 38 นัด ในขณะที่ฤดูกาลต่อมาก็ซัดไปอีกถึง 20 ประตูจากการลงสนาม 41 นัด
ศิลปินในสนาม นิยามของ เลอ ทิสซิเอร์
เลอ ทิสซิเอร์ ขึ้นชื่อเรื่องของจินตนาการ ยามอยู่ในสนาม นั่นจึงไม่แปลกที่บทบาทของเขาเปรียบเสมือนมันสมองที่พร้อมจะสรรค์สร้างเล่นงานคู่แข่งได้ทุกเมื่อ เรียกได้ว่าเป็นศิลปินนักเตะอีกคนของวงการ โดยนอกจากความเป็นศิลปินในสนามแล้ว นอกสนาม เลอ ทิสซิเอร์ ก็เป็นบุคคลอารมณ์ศิลปินเช่นกัน แถมยังขึ้นชื่อในฐานะนักเตะจอมขี้เกียจ เขาไม่ค่อยชอบวิ่งไล่บอลในสนาม และเกลียดการเข้าฟิตเนส ซึ่งเขาเองก็ยอมรับในจุดนี้แต่โดยดีว่า
“โดยปกติแล้ว ผมไม่ค่อยชอบการซ้อมเกี่ยวกับสมรรถภาพทางร่างกาย ผมสามารถซ้อมทั้งวันถ้ามีบอลมาเกี่ยวข้อง แต่ในช่วงก่อนเปิดฤดูกาล คุณต้องวิ่งตลอด 2 สัปดาห์ และมันชวนให้เบื่อเข้าไส้เลย”
เลอ ทิสซิเอร์ สร้างภาพจำด้วยสังหารประตูเวอร์ชั่นพิสดารมากมายหลายต่อหลายครั้ง จนติดตาแฟนบอลในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นสูตรการเล่นลูกฟรีคิกพิศดารที่เจ้าตัวเดาะบอลขึ้นมวอลเลย์ในเกมพบ วิมเบิลดัน ในฤดูกาล 1992-93 รวมไปถึงลูกยิงแห่งฤดูกาล 1994-95 ที่พ่อมดลูกหนังรายนี้ ค่อยๆเลื้อยหลบผู้เล่น แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ก่อนจะชิพจากระยะ 40 หลาเข้าไปทำเอาคนดูอ้าปากค้างกันทั้งสนาม เช่นเดียวกับการชิพข้ามหัว ปีเตอร์ ชไมเคิล สุดยอดโกลของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในเกมถล่ม 6-3 เมื่อฤดูกาล 1996-97 ส่วนประตูที่ทำให้ แม็ทธิว เลอ ทิสซิเอร์ กลายเป็นที่จดจำมากที่สุด น่าจะเป็นจังหวะที่เดาะบอลหลบ 2 ผู้เล่น นิวคาสเซิ่ล และซัดเข้าไปอย่างเหนือชั้น ในฤดูกาล 1993-94
วัน แมน คลับ ผู้จงรักภักดี
ด้วยผลงานส่วนตัวอันร้อนแรงและคงเส้นคงวา แต่บางฤดูกาลผลงานของ เลอ ทิสซิเอร์ กลับตรงกันข้ามกับผลงานของต้นสังกัด มันจึงไม่แปลกที่จะมีสโมสรที่ใหญ่กว่า เซาธ์แฮมป์ตัน อยากได้ตัวมิดฟิลด์มันสมองรายนี้ไปร่วมทีม โดย เลอ ทิสซิเอร์ เคยเป็นหนึ่งในนักเตะเนื้อหอมที่สุดในพรีเมียร์ลีก และมักจะตกเป็นข่าวเชื่อมโยงกับทีมดังอยู่เป็นประจำ ทั้ง เอซี มิลาน ในอิตาลี เชลซี และ แชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 1994-95 อย่าง แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส รวมไปถึง สเปอร์ส เคยยื่นข้อเสนอเป็นสถิติ ณ เวลานั้น ด้วยมูลค่า 10 ล้านปอนด์ เพื่อหวังทาบทาม เลอ ทิสซิเอร์ ไปร่วมทีมมาแล้ว
อย่างไรก็ตามสิ่งเดียวที่อยู่ในหัวของ เลอ ทิสซิเอร์ ณ ตอนนั้น หาใช่โทรฟี่แชมป์หรือเกียรติประวัติอันสง่างามในชีวิตการเป็นนักฟุตบอลแต่อย่างใด โดยเจ้าตัวปฏิเสธพร้อมกับให้เหตุผลหล่อๆคูลๆตามสไตล์ศิลปินผ่านทาง Sky Sports ว่า ทัพ นักบุญแดนใต้ คือสโมสรที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตและไลฟ์ไสตล์ของเขามากที่สุด
“ผมเกือบได้ย้ายไปอยู่กับ สเปอร์ส ในปี 1990 แต่เปลี่ยนในใจนาทีสุดท้ายตอนที่ เทอร์รี เวนาเบิลส์ เป็นผู้จัดการทีม นั่นคือการเกือบจะย้ายออกไปจากทีมมากที่สุดของผม ตอนนั้นเราตกลงค่าเหนื่อยกันได้แล้วด้วยซ้ำ แต่ท้ายที่สุด เซาธ์แฮมป์ตัน มอบสัญญาใหม่ให้ผม และยื่นข้อเสนอให้เท่ากับที่ ท็อตแน่ม เสนอมา”
“มันคือการตัดสินใจที่ยากที่สุด เพราะว่าผมรัก สเปอร์ส ในฐานะแฟนบอล แต่ตอนนั้นผมคุ้นเคยกับที่นี่แล้วและรักสโมสรนี้ รวมไปถึงผู้คนที่นี่ นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้ผมอยู่ที่นี่ต่อไป”
เลอ ทิสซิเอร์ ถูกปักหมุดเป็นจุดศูนย์กลางของทีม และได้รับอิสระอย่างเต็มที่กับ เซาธ์แฮมป์ตัน ซึ่งนั่นทำให้ เลอ ทิสสซิเอร์ สามารถใช้ทักษะ จินตนาการ และเซนส์ฟุตบอลของเขาได้อย่างเต็มกราฟ โดยแม้ว่า เลอ ทิสซิเอร์ จะมีจุดอ่อนในการเล่นเกมรับ รวมไปถึงลูกกลางอากาศ แต่สิ่งที่เขานำมาทดแทนมันกลบจุดอ่อนของเจ้าตัวไปแบบสิ้นเชิง โดยเมื่อปี 2016 ชาบี เอร์นันเดซ อดีตตำนานของ บาร์เซโลนา กล่าวยกย่อง แมทธิว เลอ ทิสซิเอร์ ผ่านทาง Independent ว่า
“เมื่อก่อนทุกวันจันทร์ ที่คาตาโลเนีย มันเคยมีรายการเวลาครึ่งชั่วโมงที่จะเปิดให้ดูสุดยอดประตูจากพรีเมียร์ลีกทุกสัปดาห์ แมตต์ เลอ ทิสซิเอร์ จะอยู่ในนั้น เราคุยกันว่าเขาเก่งเหลือเกิน ประตูที่เขาทำมันสุดยอด พรสวรรค์ของเขาเกินกว่าปกติ เขาสามารถเลี้ยงผ่านผู้เล่น 7-8 คนโดยไม่ใช้ความเร็ว เขาแค่เดินผ่านพวกเขา”
สู่ตำนานอันเป็นที่รักของเหล่า เดอะ เซนต์
ตลอด 16 ฤดูกาลกับ เซาธ์แฮมป์ตัน เลอ ทิสซิเอร์ ยิงไปถึง 209 ประตู จาก 540 นัดรวมทุกรายการ โดยเป็นการยิงในพรีเมียร์ลีกถึง 100 ประตู และทำไปถึง 64 แอสซิสต์ ขณะที่รางวัลส่วนบุคคลก็คว้ารางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมของ PFA ในฤดูกาล 1989–90 คว้ารางวัลผู้เล่นแห่งปีของ เซาธ์แฮมป์ตัน 3 ครั้ง ,รั้งตำแหน่งท็อปแอสซิสต์ในซีซั่น 1994–95 ,ติดทีมยอดเยี่ยมของฤดูกาลจาก PFA ในซีซั่น 1994–95 ,ประตูยอดเยี่ยมแห่งฤดูกาล 1994–95 จาก บีบีซี
นอกจากนี้ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าสู่หอเกียรติยศฟุตบอลอังกฤษในปี 2013 และได้รับรางวัล One Club Man Award ในปี 2015 จากการจงรักภักดีรับใช้ เซาธ์แฮมป์ตัน แค่ทีมเดียวทั้งชีวิต จนได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในตำนานของทีมนักบุญ และได้รับฉายาว่า “เลอ ก็อด” หรือ พระเจ้าของชาว เดอะ เซนต์ นั่นเอง
อยู่ทีมเล็ก เหตุผลหลักที่ ทีมชาติอังกฤษ หมางเมิน
ขณะที่ผลงานในนามทีมชาติอังกฤษของ เลอ ทิสซิเยร์ อาจไม่มีอะไรให้จดจำมากนัก เจ้าตัวติดทีมชาติเกิร์นซีย์ ซึ่งเป็นเกาะที่ตัวเองเกิด ในรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี ก่อนที่จะไล่ตามความฝันด้วยการเลือกเล่นให้ทีมชาติอังกฤษ โดยหลังจากที่รอคอยโอกาสในนามทีมชาติมานานในที่สุดก็เป็น เทอร์รี เวนาเบิลส์ ผู้จัดการทัพ สิงโตคำราม ณ เวลานั้น เรียกตัวติดทีมชาติชุดใหญ่เป็นครั้งแรกในปี 1994 และได้รับโอกาสประเดิมทีมชาตินัดแรกในเกมพบกับ ไอร์แลนด์ ในปี 1995 อย่างไรก็ตามเหมือนเป็นลางบอกเหตุอะไรสักอย่างเพราะว่าเกมนั้นแข่งขันกันไม่จบ เนื่องจากแฟนบอลทั้งสองทีมก่อเหตุจลาจลในสนาม
ก่อนศึกฟุตบอลโลก 1998 ที่ฝรั่งเศส เลอ ทิสซิเอร์ มีความหวังอย่างแรงกล้าที่จะติดทีมชาติไปลุยศึกเวิลด์คัพครั้งแรกในชีวิตให้ได้ แต่สุดท้ายเจ้าตัวกลายเป็น ผู้ถูกเลือกให้ผิดหวัง เมื่อ เกล็นน์ ฮ็อดเดิล ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ ณ เวลานั้น ไม่ได้สนใจใยดี เลอ ก็อด แต่อย่างใด แม้ว่าก่อนหน้านั้น เลอ ทิสซิเยร์ เพิ่งทำแฮตทริกในการลงสนามให้กับ ทีมชาติอังกฤษ ชุดบี ในชัยชนะเหนือ ทีมชาติรัสเซีย ชุดบี 4–1 ในเกมอุ่นเครื่อง ณ สนามลอฟตัส โร้ด ก็ตาม ซึ่งการที่เขาถูกเมินในการแข่งขันฟุตบอลโลก 98 ที่ฝรั่งเศส มีผลกระทบต่อจิตใจพอสมควร ซึ่งหลังจากนั้น เลอ ทิสซิเอร์ ก็ไม่ปรากฏชื่ออยู่ในทำเนียบทีมชาติอังกฤษอีกเลย
เลอ ทิสซิเอร์ ประกาศเลิกเล่นไปตั้งแต่ปี 2002 พร้อมจารึกสถิติลงเล่นเกินกว่า 500 นัดและทำประตูกว่า 200 ประตูให้กับทัพ นักบุญ และยังเป็นแข้งที่ทำประตูสูงสุดตลอดกาลอันดับ 2 ของสโมสร เท่านั้นยังไม่พอ เลอ ทิสซิเอร์ ยังเป็นนักเตะตำแหน่งกองกลางคนแรกของพรีเมียร์ลีกที่ทำประตูได้เกินกว่า 100 ประตู แม้ว่ายังโผล่ไปเล่นฟุตบอลกับทีมนอกลีกอย่าง อีสต์ลีห์ อยู่สองฤดูกาล และหวนกลับมาใส่สตั๊ดเพื่อเล่นให้กับ เกิร์นซีย์ เอฟซี สโมสรในบ้านเกิดที่เขาเป็นประธานสโมสรเป็นช่วงสั้นๆ
อยู่ในใจ อยู่ในความทรงจำ วีรบุรุษนักบุญแดนใต้
ชื่อของเขาได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อห้องรับรองในสนาม เซนต์ แมรี่ สนามเหย้าปัจจุบันของทัพ นักบุญ นอกจากนี้สโมสรยัง นำชื่อของเขา Le Tissier Court ไปตั้งเป็นชื่ออพาร์ทเมนต์ ตรงพิกัดที่เคยเป็นรังเหย้าอันมีสเน่ห์อย่าง เดอะ เดลล์ ในอดีต โดยแม้ เลอ ก็อด จะบอกลาวงการฟุตบอลไปหลายปีแล้ว แต่ชื่อของเขาก็ยังได้รับการระลึกถึง ในฐานะนักเตะที่ดีที่สุด และเป็นที่รักที่สุดคนหนึ่งของเหล่าแฟนบอล เดอะ เซนต์
เลอ ทิสซิเอร์ อาจจะไม่เคยพาทีมคว้าแชมป์ แต่ดูเหมือนว่านั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่เจ้าตัวปรารถนา เพราะอย่างที่บอกไปว่า วิถีชีวิตของ เลอ ทิสซิเอร์ และ ดีเอ็นเอ ของ เซาธ์แฮมป์ตัน มาเข้ากันทุกเคมี มันจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ นักเตะอันเป็นที่รัก จะต้องใฝ่หาที่สิ่งมากกว่า เลอ ทิสซิเอร์ เลือกที่จะมีความสุขกับทีมเล็กๆ และเขาก็ไม่เคยเสียใจที่ตัดสินในทำแบบนี้ และมันก็ทำให้เขาคู่ควรกับฉายา “เลอ ก็อด” หรือพระเจ้าแห่งเซาธ์แฮมป์ตันตลอด
“ผมไม่เคยเสียใจอะไรเลย ตั้งแต่ 7 ขวบ ผมมีความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอลอาชีพและมีเป้าหมายที่จะเล่นให้ทีมชาติอังกฤษ ผมเติมเต็มมันหมดแล้วที่ เซาธ์แฮมป์ตัน”
บอลจากอังกฤษ
เปิดให้บริการในไทยมานานกว่า 10 ปี การันตีความมั่นคงด้วยการเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการให้กับทีมฟุตบอลชั้นนำอย่าง ลิเวอร์พูล และ บาเยิร์น มิวนิค