หากจะพูดถึงประเทศยูเครนในโลกของฟุตบอลยุค 90 ต่อเนื่องไปถึงยุค 2000 หรือภาษาวัยรุ่นคือยุค วินนิ่ง อีเลฟเว่น ครองเมือง ครองร้านเกม ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของ อังเดร เชฟเชนโก้ น่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายของเหล่าแฟนบอล และคอวินนิ่งทั่วโลก จากความสามารถรอบตัว ความเร็วอันเฉิดฉาย และอิทธิฤทธิ์การสังหารประตูที่เฉียบขาด ทำให้กองหน้ารายนี้เป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดคนหนึ่งของประเทศยูเครน ในช่วงเวลาหนึ่งเลยทีเดียว
จากผู้ลี้ภัยในเชอโนบิล สู่วันเดอร์คิดแห่งยูเครน
อังเดร เชฟเชนโก้ เกิดเมื่อวันที่ 29 กันยายน 1976 ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ณ กรุงเคียฟ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครนโซเวียต ก่อนที่ต้องย้ายถิ่นฐานมาประจำการที่เมืองเคียฟ ในขณะที่ เชฟเชนโก้ อายุได้ 9 ขวบ เนื่องจากผลกระทบของการระเบิดของโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล เมื่อเดือนเมษายน ปี 1986 หลังจากนั้น เชฟเชนโก้ ก็เริ่มฝึกมวยสากลควบคู่ไปกับการเล่นฟุตบอลในระดับโรงเรียน ก่อนจะยึดสิ่งหลังเป็นจริงเป็นจัง จนได้เข้าร่วมสถาบันฝึกกีฬาของสหภาพโซเวียต
อันที่จริงผลงานของ เชว่า ในสมัยเล่นในโรงเรียนกีฬาอาจจะไม่ได้เปรี้ยงปร้าง สร้างชื่อมากนัก แต่จากการลงแข่งขันทักษะการเลี้ยงบอล ฝีเท้าของ เชฟเชนโก้ ดีพอที่จะไปเข้าตาทีมงานแมวมองของ ดินาโม เคียฟ สโมสรยักษ์ใหญ่ของสหภาพโซเวียต หรือประเทศยูเครน ในปัจจุบัน
และได้เข้าร่วมทีมเยาวชนของ เคียฟ ในที่สุด หลังจากนั้น ไอ้หนูเชว่า ก็เริ่มพัฒนาฝีเท้าขึ้นมาจนเป็นที่จับตามองจากเหล่าบรรดาสื่อมวลชนในประเทศ โดยเมื่อตอนที่เจ้าตัวอายุ 14 ปี เคยคว้ารางวัลดาวซัลโว ในทัวร์นาเม้นต์ของ เอียน รัช พร้อมกับได้รับรางวัลเป็นรองเท้าฟุตบอลของเพชรหน้าติดหนวดจากรั้ว แอนฟิลด์ เป็นรางวัลแห่งความพยายามมาแล้ว
จากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ทำให้ ดินาโม เคียฟ แยกตัวมาแจมกับสมาคมฟุตบอลยูเครน ซึ่ง เชฟเชนโก้ ในวัย 16 ปี ก็ถูกดันขึ้นไปเล่นในทีมชุดใหญ่ แต่ก็ต้องรอโอกาสจากม้านั่งสำรองไปก่อน จนกระทั่งได้รับโอกาส ดาวยิงรายนี้ก็ไม่ปล่อยให้หลุดลอยไป ซึ่งเพียงฤดูกาลแรก เชฟเชนโก้ ยิงประตูสำคัญๆให้กับทีมได้หลายครั้ง รวมทั้งทำแฮตทริกแรกกับทีมชุดใหญ่ของ เคียฟ ได้ด้วย
ฤดูกาลต่อมา เชฟเชนโก้ เติมเต็มเกียรติประวัติของตัวเองในประเทศยูเครน ด้วยการพา เคียฟ เป็นแชมป์ฟุตบอลลีก และฟุตบอลถ้วยของยูเครน ด้วยวัยเพียง 19 ปี ซึ่งจากผลงานดังกล่าวส่งผลให้เจ้าตัวถูกเรียกตัวทีมชาติยูเครนชุดใหญ่เป็นครั้งแรกในปี 1995 หลังจากที่เคยรับใช้ชาติมาแล้วทุกชุดในระดับเยาวชน โดย เชว่า ทำประตูแรกในการลงเล่นทีมชาติชุดใหญ่ได้ในเดือนพฤษภาคม 1996 ซึ่งเป็นเกมที่ ยูเครน อุ่นเครื่องกับ ตุรกี
ณ เวลานั้นดูเหมือนว่าชื่อ เชว่า จะเริ่มเข้าหูเหล่าบรรดาแมวมองหลายทีมในยุโรป และเริ่มมีชายหน้าแปลกที่แฝงตัวมาซุ่มดูฟอร์มของ เชฟเชนโก้ ถึงยูเครนแบบไม่ขาดสาย โดยตลอด 5 ฤดูกาลกับ ดินาโม เคียฟ เชฟเชนโก้ กระหน่ำไปถึง 60 ประตูจากการลงสนาม 117 เกม พร้อมกับช่วยให้ต้นสังกัดคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของยูเครน 5 สมัยติดต่อกัน
เมื่อลีกบ้านเกิดเล็กเกินไป ความท้าทายใหม่คือ เอซี มิลาน
ปี 1999 หลังจากโด่งดังเป็นพลุแตกกับ ดินาโม เคียฟ โดยเฉพาะการเฉิดฉายในเวที ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ที่ เชว่า หวดไป 6 ประตูจากการลงสนาม 10 ในรายการ บิ๊กเอียร์ ทำให้ เอซี มิลาน ยักษ์ใหญ่แห่งเวที กัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี ซื้อตัวไปร่วมทีมด้วยมูลค่า 26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
และก็กลายเป็นเครื่องจักรสังหารของ ปีศาจแดง-ดำ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่ง เชว่า ลงสนามนัดแรกให้กับ มิลาน ในเกมที่เสมอกับ เลชเช่ 2-2 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ปี 1999 และเพียงปีแรก เจ้าของเสื้อหมายเลข 7 แห่งถิ่น ซาน ซิโร่ ก็กลายเป็นดาวซัลโวสูงสุดของดาวซัลโวสูงสุดของกัลโช่ เซเรีย อา ในฤดูกาลนั้น จากการตะบันไปถึง 24 ประตู จากการลงสนาม 32 เกม
เชฟเชนโก้ กับเสื้อหมายเลข 7 ของเขา เติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมกับสร้างตำนานที่ยิ่งใหญ่กับ มิลาน และทีมชาติยูเครน จนกลายเป็นที่มาของสมญานาม ‘เชว่า เซเว่น’ (Sheva 7) ชื่อที่ เชฟเชนโก้ ผนวกเอาชื่อเล่นที่เรียกกันในหมู่เพื่อนนักฟุตบอล กับหมายเลขเสื้อของเขา มามิกซ์กัน และใช้ในการเซ็นสัญญาเป็นพรีเซนเตอร์รองเท้าฟุตบอลให้กับ Lotto แบรนด์กีฬาดังสัญชาติอิตาเลียนด้วย
ฤดูกาล 2000-01 เชฟเชนโก้ กดไปอีก 34 ประตู จากการลงสนาม 51 นัด และ 17 ประตูจากการลงสนาม 38 นัด ในฤดูกาล 2001-02 แต่มันก็ยังไม่เพียงพอที่จะพา มิลาน คว้าแชมป์รายการใดมาครองได้ในช่วง 2 ปีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มิลาน และ เชฟเชนโก้ มาประสบความสำเร็จร่วมกันจนได้ ในฤดูกาล 2002-03 เมื่อสามารถคว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก
และแชมป์อิตาเลียน คัพ มาครองได้ แม้ว่า เชว่า จะทำได้แค่เพียง 5 ประตู จากการลงสนามในลีก 24 เกมก็ตาม ซึ่งนั่นทำให้ เชฟเชนโก้ กลายเป็นนักเตะยูเครนคนแรกที่ได้แชมป์ บิ๊กเอียร์ หลังซัดจุดโทษคนสุดท้ายช่วยให้ ปีศาจแดง-ดำ เอาชนะ ยูเวนตุส ในรอบชิงชนะเลิศ
ฤดูกาลต่อมา (2003-04) มิลาน และ เชฟเชนโก้ คว้าแชมป์กัลโช่ เซเรีย อา มาครองได้ โดยที่ เชว่า ก็คว้าตำแหน่งดาวซัลโวสูงสุดของลีกอิตาลี มาครองได้อีกครั้ง หลังจากทำได้ 24 ประตู จากการลงสนาม 32 นัด นอกจากนั้นเขายังทำประชัยให้ มิลาน เอาชนะ เอฟซี ปอร์โต้ คว้าแชมป์ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ มาครองได้อีกด้วย
จาก บัลลงดอร์ 2004 สู่คราบน้ำตาที่อิสตันบูล
จากผลงานอันร้อนแรงของ อังเดร เชฟเชนโก้ กับ เอซี มิลาน ในยุคที่มี คาร์โล อันเชล็อตติ คุมทีม ทำให้ดาวยิงยูเครเนียนรายนี้ ประกาศศักดาด้วยการคว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของยุโรป หรือ บัลลงดอร์ มาครอง พร้อมกับกลายเป็นนักเตะยูเครนคนที่ 3 ที่ได้รับรางวัลดังกล่าวต่อจาก โอเล็ก บล็อกคิน
และ อิกอร์ เบลานอฟ นอกจากนี้ เชว่า เป็นหนึ่งในนักเตะยอดเยี่ยม 100 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ จากการคัดเลือกของ เปเล่ ราชาลูกหนังโลกผู้ล่วงลับ รวมทั้งยังได้รับรางวัลวีรบุรุษของชาวยูเครน จากอดีตประธานาธิบดี ลีโอนิด คุชม่า ของยูเครน ด้วย ดังนั้นจึงเรียกได้ว่าปี 2004 คือปีที่พีคที่สุดของ เชฟเชนโก้ อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตามในฤดูกาลต่อมา (2004-05) ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นปีชงของ เชฟเชนโก้ เมื่อเจ้าตัวทำได้แค่รองแชมป์ สคูเด็ตโต้ แถมยังชีช้ำกระหล่ำปีซ้ำสองจากการอกหักในรอบชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก โดยเป็นเกมในความทรงจำ ณ อิสตันบูล ที่ มิลาน นำ ลิเวอร์พูล 3-0 ในช่วงครึ่งแรก
แต่กลับมาโดน หงส์แดง ไล่ตีเสมอ และไปแพ้ในการดวลจุดโทษ โดย เชว่า ยิงจุดโทษคนสุดท้ายไม่เข้าทำให้ มิลาน แพ้ไปในที่สุด ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าความผิดหวังในวันนั้น ยังคงตามหลอกหลอน เชฟเชนโก้ มาจนถึงวันนี้ตลอด 7 ฤดูกาลกับ มิลาน ไม่มีฤดูกาลใดเลยที่ เชฟเชนโก้ จะยิงต่ำกว่า 10 ประตู
และนับเป็นนักเตะคนที่ 5 ต่อจาก มาร์โก้ แวน บาสเท่น, ซิโมเน่ อินซากี้, ดาโด้ แปร์โซ่ และ รุด ฟาน นิสเตลรอย โดยขีปนาวุธยูเครนจารึกสถิติกับ เอซี มิลาน ไว้ที่ 173 ประตูจาก 296 นัดรวมรายการ พร้อมกับบันทึกเกียรติประวัติคว้า แชมป์กัลโช เซเรีย อา, โคปปา อิตาเลีย, ซูเปอร์โคปปา อิตาเลียนา, ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และ, ยูฟ่า ซูเปอร์คัพ อย่างละ 1 สมัย
โดยเฉพาะในรายการ ยูฟ่า แชมเปี้ยนสลีก ที่สร้างปรากฏการณ์ ยิงไป 51 ประตู สูงสุดเทียบเท่ากับ ราอูล กอนซาเลซ ของ เรอัล มาดริด นอกจากนี้ยังเป็นรองดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของ เอซี มิลาน ต่อจาก กุนนาร์ นอร์ดาห์ล เท่านั้นยังไม่พอเมื่อ เชว่า ยังสร้างสถิติยิง 4 ประตูในนัดเดียวได้ ในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก นัดที่ มิลาน พบ เฟเนร์บาห์เช่ ด้วย อีกหนึ่งสถิติที่น่าสนใจของ เชฟเชนโก้ ก็คือการเป็นเจ้าของรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของประเทศยูเครนถึง 6 สมัย
และยังครองตำแหน่งดาวซัลโวสูงสุดของศึก มิลานดาร์บี้ มาจนถึงทุกวันนี้ หลังจากที่ยิงประตูใส่คู่ปรับร่วมเมืองอย่าง อินเตอร์ มิลาน มาแล้วถึง 14 ประตู
เอาชื่อมาทิ้งที่ เชลซี ถูกตราหน้าด้วยวลี “เด็กนาย”
ในปี 2006 เชลซี แห่งเวทีพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่มี โรมัน อับราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซียเป็นเจ้าของสโมสรและกำลังต้องการสร้างอาณาจักรใหม่ในถิ่น สแตมป์ฟอร์ด บริดจ์ ทุ่มเงินเป็นจำนวน 30 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นสถิติของเกาะอังกฤษ ณ เวลานั้น เพื่อดึง เชฟเช่นโก้ มาล่าตาข่ายให้กับ สิงโตน้ำเงินคราม พร้อมกับมอบเสื้อหมายเลข 7 ให้กับดาวยิงคนใหม่
ท่ามกลางค่าตัวมหาศาล รวมไปถึงการปรับตัวให้เข้ากับฟุตบอลอังกฤษ ทำให้ เชฟเชนโก้ ต้องแบกรับความคาดหวังและความกดดันมหาศาล และนั่นอาจเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เจ้าตัวยิงไปเพียง 14 จากการลงสนาม 51 เกมรวมทุกรายการ ในฤดูกาลแรกกับ เชลซี ขณะที่ฤดูกาลถัดมา (2006-07) เชฟเชนโก้ ประสบปัญหาอาการบาดเจ็บและต้องเข้ารับการผ่าตัดไส้เลื่อน ทำให้พลาดการลงสนามไปพักใหญ่ แถมยังต้องใช้เวลาฟื้นตัวจึงทำให้สถิติของ เชฟเชนโก้ กับ เชลซี อยู่ที่การลงสนามไปเพียง 25 นัดและยิงไป 9 ประตูรวมทุกรายการ
หลังจากหายจากอาการบาดเจ็บ ดูเหมือนว่า เชว่า จะยังไม่ใช่คนเดิม นั่นจึงเป็นเหตุสำคัญที่ เชลซี ส่งดาวยิงรายนี้กลับไปให้ มิลาน ยืมตัว แต่สุดท้ายการกลับมาล่าตาข่ายในถิ่น ซาน ซิโร่ ครั้งที่ 2 มันดันเป็นหนังคนละม้วนกับภาคแรกเมื่อ เชฟเชนโก้ ลงสนามไป 18 เกม ยิงไม่ได้เลยแม้แต่ประตูเดียวในศึกกัลโช่ เซเรีย อา ปีต่อมา เชฟเชนโก้ เลือกกลับไปเลียแผลใจกับทีมอู่ข้าวอู่น้ำอย่าง ดินาโม เคียฟ พร้อมสวมเสื้อหมายเลข 7 อีกครั้ง โดยตลอด 3 ฤดูกาลที่ เคียฟ เชว่า ดูสนุกสนานกับการเล่นฟุตบอล แม้ว่าจะถูกปรับเปลี่ยนบทบาทบ้างก็ตาม
และที่สำคัญคือแรงกดดันมันมีไม่มากเท่ากับการเล่นในลีกชั้นนำของยุโรป โดย เชฟเชนโก้ ลงสนามไป 83 เกมยิง 30 ประตู พร้อมกับเพิ่มเกียรติประวัติส่วนตัวจากการคว้าแชมป์ ยูเครเนียน ซูเปอร์คัพ ในปี 2011 ซึ่งเป็นเกียรติยศสุดท้ายในฐานะนักฟุตบอลอาชีพของเจ้าตัว
เส้นทางการเมือง ที่ไม่ได้ง่ายเหมือนการล่าตาข่าย
หลังจากประกาศเลิกเล่น เชฟเชนโก้ หันไปเอาดีด้านการเมือง โดยในช่วงเวลาเจ้าตัวค้าแข้งกับ เอซี มิลาน เชฟเชนโก้ มีโอกาสได้ร่วมงานกับบุคคลในวงการสังคมชั้นสูงมากมาย โดยเฉพาะการสนิทสนมกับ จอร์โจ อาร์มานี่ นักออกแบบแฟชั่นชื่อดังชาวอิตาลี
และเขายังได้เป็นนายแบบให้กับเครื่องแต่งกายแบรนด์ดังอย่าง “อาร์มานี่” อีกด้วย รวมถึงยังทำธุรกิจส่วนตัวด้วยการเปิดร้านเกี่ยวกับเสื้อผ้า 2 แห่งที่ กรุงเคียฟ ซึ่งนั่นทำให้ เชฟเชนโก้ มักถูกชักชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมการกุศลอยู่บ่อยครั้ง โดยในปี 2005 เชฟเชนโก้ ได้รับเลือิกให้เป็นทูตขององค์กรการกุศลที่ชื่อว่า “SOS Children’s Villages” ด้วย
ภายหลังจากที่ เชฟเชนโก้ ในวัย 36 ปีประกาศเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพ หลังจบศึก ยูโร 2012 รอบสุดท้าย เชว่า เข้าร่วมศึก ยูโรเปี้ยน ชาลเลนจ์ ทัวร์ “คาร์คีฟ ซูพีเรีย คัพ” ที่สนาม ซูพีเรีย กอล์ฟ คลับ แอนด์ สปา รีสอร์ต ในฐานะแขกรับเชิญพิเศษของการเเข่งขัน
ซึ่ง เชฟเชนโก้ เองก็ไม่ได้มีรายการลงแข่งในฐานะนักกอล์ฟอาชีพมากนัก โดยส่วนใหญ่จะเป็นงานการกุศลเสียมากกว่า สำหรับเส้นทางการเมืองของ เชว่า เจ้าตัวสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค Ukraine – Forward ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองประชาธิปไตยสังคมนิยม และยังมีชื่อเป็นสมาชิกบัญชีรายชื่อลำดับที่ 2 ของพรรคด้วย อย่างไรก็ตามหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2012 พรรค Ukraine – Forward ไม่ประสบความสำเร็จก่อนที่ เชฟเชนโก้ จะยุติบทบาททางการเมืองไปในที่สุด
ประสบการณ์อันล้ำค่า กับหน้าที่การเป็นกุนซือ
เพียง 1 เดือนหลังความล้มเหลวในชีวิตทางการเมือง เชฟเชนโก้ ได้รับการติดต่อจากสมาคมฟุตบอลยูเครนให้รับตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติยูเครน แต่เขาก็ปฏิเสธไป ทว่าในต้นปี 2016 เชฟเชนโก้ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมชาติยูเครนเพื่อเรียนรู้งาน
และในกลางปีเดียวกันนั้นเอง เชฟเชนโก้ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมชาติยูเครน และสามารถพายูเครนเข้าสู่การแข่งขันรอบสุดท้าย แถมยังทะลุเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ก่อนจอดป้ายด้วยการแพ้ ทีมชาติอังกฤษ ซึ่งนับเป็นกุนซือที่พาทีมชาติยูเครน เข้าสู่รอบลึกที่สุดของประเทศในการแข่งขันฟุตบอลยูโรด้วย
และแม้ว่ายูเครนจะประสบความสำเร็จในทัวร์นาเมนต์ แต่สุดท้าย เชฟเชนโก้ ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม ปี 2021 โดยทิ้งตัวเลขการคุมทีมไว้ที่ 52 นัดชนะ 25 เสมอ 13 และแพ้ 14 เกม
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน เชฟเชนโก้ ได้ชิมลางงานกุนซือในระดับสโมสรเป็นครั้งแรกกับ เจนัว โดยได้รับสัญญายาวจนถึงปี 2024 โดยมีภารกิจกอบกู้วิกฤตของสโมสรที่ผลงานย่ำแย่ชนะเกมเดียวจาก 12 ในลีกรั้งอยู่อันดับ 18 ของตารางคะแนน
โดยเกมแรก เชว่า พา เจนัว ดวลกับ อาแอส โรม่า ที่มี โชเซ่ มูรินโญ่ คุมทีมก่อนแพ้ไป 0-2 ซึ่งดูเหมือนว่างานดังกล่าวน่าจะหนักเกินไปสำหรับกุนซือหน้าใหม่อย่าง เชฟเชนโก้ โดย เชฟเชนโก้ ถูกปลดออกจากตำแหน่ง หลังจากที่คุมทีมได้เพียง 8 เกม โดยชนะเพียงเกมเดียวและแพ้ไปถึง 7 เกม รวมระยะเวลาในการทำงานกับ เจนัว เพียง 2 เดือนเท่านั้น
สุดท้ายแม้ว่า เชฟเชนโก้ อาจไม่ได้บอกลาอาชีพประหนึ่งตำนานนักเตะอย่างที่ควรจะได้รับ แต่อย่างน้อยสิ่งที่เจ้าตัวสร้างเอาไว้ โดยเฉพาะกับ เอซี มิลาน มันช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน สำหรับดาวยิงหมายเลข 7 ชาวยูเครน ผู้เป็นขวัญใจแห่งถิ่น ซาน ซิโร่ ผู้เป็นดาวซัลโวแห่งศึก มิลาน ดาร์บี้ อังเดร เชฟเชนโก้
สนับสนุนโดย 188BET
เว็บเดิมพันฟุตบอลจากอังกฤษ
เปิดให้บริการในไทยมานานกว่า 10 ปี การันตีความมั่นคงด้วยการเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการให้กับทีมฟุตบอลชั้นนำอย่าง ลิเวอร์พูล และ บาเยิร์น มิวนิค