โปรแกรมฟุตบอลรายการคัพ วินเนอร์ส คัพ ฤดูกาล 1986/87 รอบรองชนะเลิศ สโมสรอาแจ็กซ์ยอดทีมจากแดนกังหัน ต้องบุกไปเยือนทีมมัลโม่ สโมสรในประเทศสวีเดน
เวลานั้น เกจิฟุตบอลหลายคนต่างพากันฟันธงว่า ทีมที่เต็มไปด้วยบรรดาดาวรุ่งฝีเท้าพระกาฬอย่าง อาแจ๊กซ์ ของกุนซือโยฮันน์ ครัฟฟ์ มีโอกาสปราบ มัลโม่ ภายใต้การคุมทีมโดย รอย ฮ็อดจ์สัน ไปสู่รอบชิงชนะเลิศไม่ยากนัก
จนวันที่ 4 มีนาคม 1987 อาแจ๊กซ์ ต้องออกไปเยือนถึงถิ่น มัลโม่ ในเกมนัดแรก สุดท้ายแล้ว เกมได้ถูกยกเลิกก่อนเวลาแข่งจริง ด้วยสภาพสนามที่ถูกปกคลุมไว้ด้วยหิมะ ทำให้ต้องเลื่อนโปรแกรมไปแข่งกันในวันเสาร์ที่ 14 มีนาคม
ปฐมบทที่อาแจ็กซ์
หลังการแข่งขันถูกประกาศเลื่อนออกไป เดนนิส เบิร์กแคมป์ ในวัย17 ปี กางปฏิทิน ในขณะเดียวกับที่ความกังวลเริ่มก่อตัวขึ้นในใจ
มันคือปีแรกที่เขาเพิ่งได้โอกาสมีชื่อติดทีมชุดใหญ่ของอาแจ๊กซ์ แต่โปรแกรมเกมถ้วยยุโรปของทีมที่ถูกเลื่อนออกไปในวันเสาร์ นั่นเท่ากับโอกาสที่เขาจะได้ร่วมเดินทางไปกับทีมในเกมนี้ยากลำบากขึ้นทันที เพราะเขาต้องเข้าสอบวิชาชีววิทยาที่โรงเรียนในบ่ายวันศุกร์
แม้ความฝันสูงสุดในเวลานั้นคือการได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพในอนาคต แต่เป้าหมาย ณ ปัจจุบัน เขาต้องการที่จะเรียนให้จบทันพร้อมกับเพื่อนคนอื่น ๆ สุดท้ายแล้ว โยฮัน ครัฟฟ์ กุนซืออาแจ็กซ์เสนอว่า เบิร์กแคมป์จะเดินทางไปพร้อมทีมตั้งแต่วันพฤหัสบดีหรือจะค่อยตามทีมไปหลังจากสอบเสร็จในเย็นวันศุกร์
แน่นอนว่า เบิร์กแคมป์ เลือกที่จะทำข้อสอบจนเสร็จเรียบร้อย ก่อนที่จะขึ้นรถยนต์ของพ่อขับมาส่งเขายังสนามบิน
เบิร์กแคมป์ เดินทางมายังสวีเดนโดยเครื่องบินพร้อมกับนักข่าวชาวฮอลแลนด์คนหนึ่ง จากนั้นทั้งสองต่อเรือจนมาถึงเมืองมัลโม่ในที่สุด
โยฮัน ครัฟฟ์ ส่งนักเตะที่ยังเป็นนักเรียนคนนี้ลงสนามในช่วง 15 นาทีสุดท้าย แต่ท้ายที่สุด อาแจ๊กซ์ ก็ไม่อาจรอดพ้นจากความพ่ายแพ้ในเกมแรกต่อมัลโม่ 1-0 ก่อนต้องพบกันในเกมที่สองอีกสี่วันต่อมา
เกมนัดที่สองที่ อาแจ๊กซ์ จะแพ้ไม่ได้ มันคือเกมสุดสำคัญเกมหนึ่งของทีมในถ้วยยุโรป แต่สิ่งที่ ครัฟฟ์ ตัดสินใจทำได้สร้างความประหลาดใจแก่สายตาแฟนบอลด้วยการส่งนักเตะตัวรุกวัย 17 ปีนั่นคือ เบิร์กแคมป์ลงสนามเป็นตัวจริง
ก่อนเกมเริ่ม ครัฟฟ์ มอบหมายตำแหน่งปีกซ้ายให้กับ เบิร์กแคมป์ พร้อมกับกระตุ้นเด็กคนนี้ว่า “แบ็คขวาของมัลโม่คนนั้นเป็นแค่ไอ้แก่คนหนึ่ง ทั้งเชื่องช้าเป็นเต่า นายเก่งกว่ามันเยอะ จงลงไปฆ่ามันซะ!!”
ผลจบเกม อาแจ๊กซ์ เอาชนะ มัลโม่ 3-1 รวมผลสองนัด อาแจ๊กซ์ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศฟุตบอลคัพ วินเนอร์ส คัพ สำเร็จ ด้วยสกอร์รวม 3-2 แต่สิ่งที่แฟนบอลต่างจดจำและพูดถึงหลังเกมจบ นั่นคือเทคนิคในการเล่นงานคู่ต่อสู้ทางริมเส้นฝั่งซ้ายโดยนักเตะวัยเพียงแค่ 17 ปี และลงเล่นให้ทีมเป็นตัวจริงในเกมยุโรปเกมแรก ก่อนที่ชื่อของเขาจะถูกจดจำในหมู่แฟนบอล อาแจ๊กซ์ รวมถึงโลกฟุตบอลในเวลาต่อมา
ตำนานคนใหม่ของ อาแจ๊กซ์ ถูกขีดเขียนเรื่องราวโดยเด็กนักเรียนวัยแค่ 17 ปี เขาสอบผ่านวิชาชีววิทยาครั้งนั้น พร้อมกับพาทีมเข้าชิงสำเร็จ และโอกาสสำคัญในชีวิตก็เดินทางมาให้เขาต้องตัดสินใจเมื่อ โยฮัน ครัฟฟ์ ต้องการเห็นเขาในสนามซ้อมมากกว่าสองวันต่อสัปดาห์
“เราไม่ค่อยฝึกซ้อมเหล่านักเตะในทีมสำรองมากนักหรอก แต่เราให้นักเตะในทีมสำรองฝึกซ้อมเพื่อเบิร์กแคมป์เพียงคนเดียว” คำพูดที่อธิบายถึงความสามารถในคลาสฟุตบอลและพรสวรรค์ชั้นเลิศของดาวรุ่งคนนี้จาก โยฮัน ครัฟฟ์
ปีนั้น อาแจ๊กซ์ คว้าแชมป์คัพ วินเนอร์ส คัพ ในนัดชิงกับทีม โลโคโมทีฟ ไลป์ซิก ด้วยสกอร์ 1-0 รวมถึงคว้าแชมป์ดัตช์ คัพ ซึ่งเขาถูกเปลี่ยนตัวลงมาเปลี่ยนเกมหลังจากทีมกำลังตกเป็นรองทีม เดน ฮาก 2-0 จนพลิกกลับมาชนะ 4-2 ในฤดูกาล 1986/87 นั่นคือฤดูกาลแรกในทีมชุดใหญ่ของเดนนิส เบิร์กแคมป์
ฤดูกาล 1989/90 เบิร์กแคมป์ ยิงไป 8 ประตู ช่วยพา อาแจ๊กซ์ คว้าแชมป์ลีกฟุตบอลฮอลแลนด์สำเร็จ แต่ในฤดูกาลหน้าพวกเขาจะหมดสิทธิ์ลงเล่นในรายการยูโรเปี้ยน คัพ เพราะแฟนบอลอาแจ๊กซ์ได้ก่อเรื่องไว้ในรายการคัพ วินเนอร์ คัพ ปีดังกล่าว
ต่อมาในฤดูกาล 1990/91 การที่ อาแจ๊กซ์ ไร้โปรแกรมลงเล่นในเกมยุโรป ทำให้ เบิร์กแคมป์ ทุ่มเทสมาธิกับทีมในเกมฟุตบอลลีก เขาลงเล่นรวม 33 เกม และยิงไป 25 ประตู คว้ารางวัลดาวซัลโวประจำฤดูกาลร่วมกับ โรมาริโอ แห่งสโมสรพีเอสวี และสิ้นปีนั้น เบิร์กแคมป์ ก็คว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของประเทศฮอลแลนด์ แม้ อาแจ๊กซ์ จะไร้ถ้วยรางวัลใด ๆ มาประดับตู้โชว์ก็ตาม
ในฟุตบอลรายการยูโรเปี้ยน คัพ ฤดูกาล 1991/92 เบิร์กแคมป์ ยิงประตูได้ตั้งแต่นัดแรกจนถึงแมตช์รองชนะเลิศ ซึ่งขาดเพียงนัดชิงชนะเลิศเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เขาคว้ารางวัลดาวซัลโวของลีกฟุตบอลฮอลแลนด์อีกสมัย ด้วยจำนวน 22 ประตู บวกตำแหน่งนักฟุตบอลยอดเยี่ยม แถมท้ายด้วยการครองตำแหน่งนักเตะรางวัลบัลลง ดอร์ลำดับที่สาม โดยเบอร์หนึ่งในตอนนั้นก็คือ มาร์โก แวน บาสเท่น กองหน้ารุ่นพี่ชาวฮอลแลนด์ที่กำลังฉาดฉายแสงอยู่ที่ เอซี มิลาน
ฤดูกาล 1992/93 อาแจ๊กซ์ คว้าแชมป์บอลถ้วยฮอลแลนด์ โดย เบิร์กแคมป์ คว้าดาวซัลโวลีกสามฤดูกาลติด เขายิงไป 26 ประตู ในความสามารถอันโดดเด่นกับทักษะที่เปล่งประกายทำให้ เบิร์กแคมป์เขยิบเข้าใกล้ตำแหน่งนักเตะยอดเยี่ยมรางวัลบัลลง ดอร์ แต่ก็ยังเป็นรองเพียง’เทพบุตรเปียทองคำ’ โรแบร์โต้ บาจโจ้ ที่พา ยูเวนตุส คว้าถ้วย ยูฟ่า คัพ
และนั่นคือฤดูกาลสุดท้ายของ เบิร์กแคมป์ กับอาแจ๊กซ์ เขาเก็บกระเป๋าโบกมือลาสโมสรที่ตนเองได้ฝากผลงาน 122 ประตู จาก 237 เกม ไว้ในความทรงจำแฟนบอลเพื่อเดินทางไปผจญภัยลูกหนังบนเวทีกัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี กับทีม อินเตอร์ มิลาน ด้วยค่าตัว 7.1 ล้านปอนด์
ประสบการณ์ที่อิตาลี
หลังมาถึงอิตาลี ในความรู้สึกแรก เขาคิดว่าที่นี่น่าจะเป็นลีกที่เหมาะกับสไตล์การเล่นของตนเองที่สุด แต่สุดท้ายความแข็งแกร่งในเกมรับของแต่ละทีม ส่งผลให้เบิร์กแคมป์ทำผลงานได้ย่ำแย่ในเกมลีก เขายิงให้ “งูใหญ่” ได้เพียง 8 ประตูในเกมลีกทั้งฤดูกาล แต่นั่นสวนทางกับฟุตบอลรายการยุโรปอย่าง ยูฟ่า คัพ ที่เขากดให้ทีมได้รวม 8 ประตู ซึ่งอินเตอร์ มิลาน คว้าแชมป์ยูฟ่า คัพ ในปีนั้น
ฤดูกาลที่สอง 1994/95 ฟอร์มที่เคยสุกสกาวกลับกลายเป็นดวงดาวที่อับแสง เขาทำได้เพียง 3 ประตูในเกมลีก เกิดปัญหามีอาการบาดเจ็บรบกวน ส่งผลให้เมื่อจบฤดูกาล เบิร์กแคมป์ จึงกลายเป็นส่วนเกินของทีม เมื่อ ‘งูใหญ่’ ทุ่มเงินเสริมทีมด้วยนักเตะชื่อดังมากมาย
มันอาจเป็นบทเริ่มต้นของตำนานผู้เล่นที่เวลานั้นไม่อาจมีใครคาดเดาเนื้อเรื่องได้ เบิร์กแคมป์ ตัดสินใจย้ายทีมอีกครั้ง และหนนี้เขาเดินทางข้ามมายังลีกฟุตบอลที่ว่ากันว่าเป็นลีกที่ต้องใช้พลังเข้าห่ำหั่นฟาดฟันกันมากกว่าเน้นทักษะและเทคนิค มันช่างไม่เหมาะกับสไตล์นักเตะพรสวรรค์สูงส่งเช่นเขาเลย
แต่การย้ายมายังสโมสรอาร์เซน่อล ด้วยค่าตัว 7.5 ล้านปอนด์ ครั้งนั้น มันได้กลายเป็นเรื่องราวที่อยู่ในทรงจำแฟนบอล ‘ปืนใหญ่’ ได้ชัดเจนที่สุดเรื่องราวหนึ่งตราบจนปัจจุบัน
ตำนานแห่งปืนใหญ่
เขาถูกดึงตัวมาเพื่อยกระดับฟุตบอลของสโมสรแห่งนี้ และสิ่งที่ เบิร์กแคมป์ เริ่มต้นสร้างผลงานกับทีมมันคล้ายการหว่านเมล็ดจนผลิดอกออกผลเบ่งบานในฤดูกาล 1997/98 จนหลังจาก อาร์แซน เวนเกอร์ กุนซือผู้ประสบความสำเร็จมาแล้วทั้งใน ลีก เอิง ฝรั่งเศส และเจ ลีก ญี่ปุ่น ได้เดินทางมาถึงถิ่นไฮบิวรี่ ตั้งแต่กลางฤดูกาลก่อน พร้อมกับสไตล์ฟุตบอลที่เน้นเกมรุกสวยงาม เพลินตา และเต็มไปด้วยความดุดัน เร้าใจ
อาร์เซน่อล คว้าดับเบิ้ลแชมป์ในฤดูกาลดังกล่าว ทั้งแชมป์พรีเมียร์ลีก และเอฟเอ คัพ โดย เบิร์กแคมป์ ยิงให้อาร์เซน่อล รวม 22 ประตู จากทุกรายการ เขาคว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมจากสมาคมนักข่าวอังกฤษไปอีกหนึ่งรางวัล
ฤดูกาล 1999/2000 บทบาทของ เบิร์กแคมป์ วัย 30 ปี ในทีม ‘ปืนใหญ่’ ลดน้อยถอยลง เมื่อ เวนเกอร์ จัดการเสริมผู้เล่นในแนวรุกทั้ง เธียร์รี่ อองรี, เอ็นวานโก้ คานู, ดาวอร์ ซูเคอร์ แต่การเปลี่ยนตัวลงมาของ เบิร์กแคมป์ ในแต่ละเกมยังสามารถเพิ่มมิติสนับสนุนในแนวรุกให้กับทีมด้วยทักษะการจ่ายบอลอันแพรวพราว ฉลาดเฉียบแหลมและคมกริบ
การขับเคี่ยวแย่งชิงตำแหน่งแชมป์พรีเมียร์ลีก ระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กับอาร์แซน เวนเกอร์ แม่ทัพแห่ง ‘ไอ้ปืนใหญ่’ เป็นไปอย่างดุเด็ดเผ็ดมันส์ในยุคสมัยนั้น
หลังจากอาร์เซน่อล คว้ารองแชมป์ถึงสามฤดูกาลติดต่อกันตั้งแต่ปี 1998 จนถึงปี 2002 ลูกทีมของ เวนเกอร์ ก็ประกาศศักดาคว้าดับเบิ้ลแชมป์มาครองอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง
ฤดูกาลนั้น เบิร์กแคมป์ ลงเล่นไป 33 เกมในลีก ยิงไป 9 และจ่ายให้เพื่อนยิงประตูสำเร็จ 12 ครั้ง
แต่ฤดูกาลที่ถือเป็นความเกรียงไกรอย่างแท้จริงของ อาร์เซน่อล นั่นคือ ฤดูกาล 2003/04 มันเป็นดั่งปีทองของพลพรรคเดอะ กันเนอร์ส เมื่อพวกเขาสร้างสถิติที่ประวัติศาสตร์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ต้องจารึกด้วยการเป็นแชมป์ที่ไร้พ่ายตลอดทั้งฤดูกาล ทั้งสไตล์การเล่นอันสวยงาม ผสมผสานกับความรวดเร็วในเกมรุกบวกความแข็งแกร่งในเกมรับ ส่งผลให้ อาร์เซน่อล ชนะ 26 เสมอ 12 และการไม่แพ้ใครแม้แต่เกมเดียวยาวนานถึง 49 เกม
แม้ เบิร์กแคมป์ จะยิงให้ทีมได้เพียง 4 ประตู แต่สำหรับการสนับสนุนเพื่อนร่วมทีมนั้นเขามีส่วนสำคัญในการถล่มประตูของ อองรี รวม 30 ประตู
ฤดูกาล 2005/06 ปีสุดท้ายในสีเสื้อ”ปืนใหญ่” เบิร์กแคมป์ ประกาศเลิกเล่นฟุตบอลในวัย 36 ปี ฝากผลงานมากมายจากปลายเท้าของเขายังคงติดตรึงอยู่ในโหมดความจำของแฟนบอลอาร์เซน่อลและกองเชียร์ทีมอื่น ๆ อย่างไม่เสื่อมคลาย
ใครหลายคนยังจดจำการแตะบอลก่อนหมุนตัวหลบกองหลังนิวคาสเซิ่ลอย่าง นิครอส ดาบิซาส ราวกับการเต้นระบำก่อนเข้าไปยิงประตูแบบคลาสสิก รวมถึงลูกยิงอมตะคลาสสิกตลอดกาลในศึกฟุตออลโลก ปี 1998 เกมที่ ฮอลแลนด์ เขี่ย อาร์เจนตินา ร่วงในรอบก่อนรองชนะเลิศ
ผลงานทั้งหมดทั้งมวลได้ถูกผลิตออกมาจากมันสมองและสองเท้าจนกลายมาเป็นคลาสฟุตบอลอย่างยากที่จะหานักเตะคนใดขึ้นไปเทียบเคียง
ที่มาของฉายา
ย้อนกลับไปในปี 1995 เดนนิส เบิร์กแคมป์ ย้ายจากอินเตอร์ มิลาน มาร่วมทีมอาร์เซน่อล ด้วยค่าตัวสถิติสโมสร 7.5 ล้านยูโร โดยหนึ่งในเงื่อนไขที่เขาใส่ลงไปในรายละเอียดสัญญา คือการไม่ขอร่วมนั่งเครื่องบินไปแข่งขันเกมเยือนและพร้อมให้หักเงินค่าจ้างเพราะไม่อยากเอาเปรียบสโมสร แน่นอนว่าหากเกมเยือนนัดใหน ที่เขาสามารถจะนั่งรถไฟหรือขับรถไปได้ เขาก็จะทำ เพราะว่า เดนนิส เบิร์กแคมป์ เป็นโรค Aviophobia หรือก็คือกลัวการนั่งเครื่องบินนั่นเอง เชื่อกันว่าจุดเริ่มต้น มันเริ่มจากการที่เขานั่งเครื่องบินเพื่อไปร่วมทำศึกฟุตบอลโลก ปี 1994 กับทีมชาติฮอลแลนด์ ซึ่งเครื่องบินเกิดปัญหาขัดข้องเรื่องเครื่องยนต์และมีหนึ่งในทีมนักข่าวที่เดินทางเกาะติดไปกับทีมอัศวินสีส้ม ดันพูดเรื่องโจ๊กขึ้นมาว่าสงสัยคงมีระเบิดในกระเป๋า เดนนิส ละมั้งที่ทำให้เครื่องต้องดีเลย์
“มันทำให้ผมรู้สึกแย่มาก ๆ ผมรู้สึกไม่ดีทุกครั้ง เวลานั่งเครื่องบินแล้วมองออกไปที่ท้องฟ้าเพื่อลุ้นให้สภาพอากาศภายนอกมันดี แต่มันทำให้ผมหมกหมุ่นและหวาดกลัวในที่สุด”
โดยเฉพาะช่วงที่เขาอยู่กับอินเตอร์ มิลาน ที่เวลาต้องเล่นเป็นทีมเยือน สโมสรมักเดินทางโดยเครื่องบินเสมอ
“ผมมีความทรงจำไม่ดีกับเครื่องบินตั้งแต่ยังอยู่ อาแจ๊กซ์ สมัยนั้นเครื่องมันลำเล็กและแคบมาก ครั้งหนึ่งเครื่องบินลำที่ผมนั่งมันเสียการทรงตัวตกหลุมอากาศ แถว ๆ ภูเขาเมืองเนเปิ้ลส์ และมันยิ่งตอกย้ำความหวาดกลัวเข้าไปในจิตใจผมหนักขึ้น และทำให้ผมไม่ต้องการนั่งเครื่องบินอีกแล้ว”
กับนักฟุตบอลคนหนึ่งผู้เป็นโรคกลัวเครื่องบินจนต้องพลาดการลงเล่นหลายเกมสำคัญ แต่ชื่อของเขานั้นไม่เคยตกหล่นหายไปในหลุมอากาศในความจำของเหล่าแฟนบอลตลอดกาล
“Non Flying Ducthman” เดนนิส เบิร์กแคมป์