“จิ้งจอกสยาม” เลสเตอร์ ซิตี้ คว้าสามแต้มที่ต้องการได้สำเร็จ หลังเปิดบ้านอัด เวสต์แฮม ในเกมนัดปิดซีซั่น อย่างไรก็ตาม ผลอีกสนามไม่เป็นใจ เมื่อ เอฟเวอร์ตัน ก็คว้าสามคะแนนได้ สุดท้าย เลสเตอร์ จึงจบอันดับ 18 ตกชั้นตาม ลีดส์ และ เซาธ์แฮมตัน ไปอย่างน่าเสียดาย ในเกมพรีเมียร์ลีก อังกฤษ นัดปิดฤดูกาล
บทความนี้เราชวนผู้อ่านมาวิเคราะเหตุผล 3 ข้อ ที่ส่งให้ทีม “จิ้งจอกสยาม” เลสเตอร์ ซิตี้ ต้องร่วงหล่นจากลีกสูงสุดอังกฤษหลังจบฤดูกาลนี้ จะมีเหตุผลข้อใดบ้าง เชิญไปดูกันเลย
1. การซื้อ-ขายผู้เล่น
ก่อนเริ่มฤดูกาล 2022/23 เลสเตอร์ ซิตี้ ต้องเสียผู้รักษาประตูมือดีที่สุดของทีมอย่าง แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล ให้กับสโมสรนีซ ในลีกเอิง ฝรั่งเศส ด้วยค่าสุดถูกเพียง 1 ล้านปอนด์ ซึ่งตลอด 11 ปีที่ลงเล่นให้ เลสเตอร์ ซิตี้ นอกจากจะเป็นผู้รักษาประตูที่มีความเป็นผู้นำสูงแล้ว ชไมเคิ่ล ยังช่วยทีมประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ พรีเมียร์ ลีก 1 สมัย, เอฟเอ คัพ 1 สมัย, คอมมูนิตี ชิลด์ 1 สมัย หลังการจากไปของมือกาวชาวเดนส์ เลสเตอร์ ซิตี้ ทดแทนตำแหน่งของ ชไมเคิ่ล ด้วยการดัน แดนนี่ วอร์ด นายทวารมือสองที่อยู่กับทีมตั้งแต่ปี 2018 ขึ้นมาเป็นมือหนึ่งแทน ผลที่เกิดขึ้นต่อมา ความเหนียวหนึบในการป้องกันประตูชั้นสุดท้ายของทีมลดลงอย่างฮวบฮาบในฤดูกาลนี้
นอกจากนั้น เลสเตอร์ ซิตี้ ยังตัดสินใจปล่อยตัวแนวรับอนาคตไกลวัย 21 ปี อย่าง เวสลี่ย์ โฟฟาน่า ไปให้กับ เชลซี ด้วยค่าตัว 75 ล้านปอนด์ แต่การทดแทนผู้เล่นที่จากไปด้วยกองหลังคนใหม่ชาวเบลเยี่ยมอย่าง เว้าท์ ฟาส นั่นสร้างความระทมใจแก่แฟนบอล “จิ้งจอก” ยิ่งนัก เพราะนอกจากเกมรับจะถูกคู่แข่งเจาะทะลายได้ง่ายแล้ว ฟาส ยังเคยบันทึกชื่อตนเองบนสกอร์บอร์ด ด้วยการทำเข้าประตูทีมตัวเอง 2 ลูก ใน 1 เกม อีกด้วย นั่นรวมไปถึง แฮรี่ ซูตทาร์ ปราการหลังเลือดออสเตรเลีย ที่เลสเตอร์ไปคว้ามาจาก สโต๊ก ซิตี้ ด้วยสนนราคา 15 ล้านปอนด์ ก็ไร้ผลงานโดดเด่นให้กล่าวถึงเช่นกัน
ในส่วนของกองหน้า นักเตะอย่าง แพ็ตสัน ดาก้า ศูนย์หน้าชาวแซมเบีย ผลิตประตูให้ทีมได้แค่ 4 ประตูเท่านั้น ส่วน เคเลชี่ อิเฮียนาโช่ ที่ทีมคาดหวังไว้ก็ไม่มีผลงานใดเป็นชิ้นเป็นอัน แน่นอนว่าบทบาทนักล่าตาข่ายไม่มีใครจะทดแทน เจมี่ วาร์ดี้ ศูนย์หน้าวัยเก๋าของทีมที่ใกล้ปลดระวางได้เลย
ปัญหาทางการเงิน
ในช่วง “ไวรัสโควิด-19” เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า คิง พาวเวอร์ คือบริษัทธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ดังนั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวมันหยุดชะงัก จึงทำให้บริษัทได้รับผลกระทบอย่างหนัก ผลประกอบการของบริษัทลดลงจาก 2.3 พันล้านปอนด์ เป็น 448 ล้านปอนด์ ผนวกกับช่วงเวลาดังกล่าว สโมสรมีการสร้างสนามซ้อมแห่งใหม่ แต่ก็โชคร้าย เพราะไม่นานหลังจากนั้นโลกก็ได้รู้จักกับ โควิด-19 ซึ่งสโมสรก็ยังเดินหน้าสร้างต่อไป เพื่อให้เสร็จสมบูรณ์ตามแผนเดิมในปี 2022
โดยปกติแล้วเราจะไม่เห็น เลสเตอร์ ซิตี้ ทุ่มเงินซื้อนักเตะบิ๊กเนมด้วยเงินมหาศาล แต่พวกเขามักจะคว้าตัวนักเตะที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก มาพัฒนาเพื่อขายต่อ และเซ็นสัญญาระยาว เพราะพวกเขาเคยประสบความสำเร็จด้วย “เลสเตอร์ โมเดล” มาแล้ว จากการขาย เอ็นโกโล่ ก็องเต้, ริยาด มาห์เรซ, แดนนี่ ดริงค์วอเตอร์ และ แฮร์รี่ แม็คไกวร์ จนได้กำไร 255 ล้านปอนด์
ทว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทีมในลีกไม่สามารถซื้อขายกันได้ตามปกติ จึงทำให้ “เลสเตอร์ โมเดล” พังไม่เป็นท่า พวกเขาขายนักเตะไม่ออก และอัตราค้าจ้างที่ เลสเตอร์ ต้องจ่ายให้กับนักเตะที่เซ็นสัญญาระยะยาวก็สูงขึ้นจาก 68.6% มาเป็น 80% นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทีมจมสู่ความล้มเหลวในฤดูกาลนี้
3. ผลงานในสนาม
แม้จะล้มเหลวในเรื่องการซื้อขายผู้เล่นหลายครั้งหลายหน แต่สุดท้ายแล้ว บรรดาแนวรุกของ เลสเตอร์ ซิตี้ โดยเฉพาะกองกลางอย่าง ฮาร์วี่ย์ บาร์นส ก็ช่วยยิงให้ทีมไปถึง 13 ประตู รวมทั้ง เจมส์ แมดดิสัน ที่กดไปอีก 9 ประตู รวมแล้วในเกมลีก เลสเตอร์ ทำประตูได้ถึง 51 ประตู นั่นก็ไม่น้อยและเป็นผลงานในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งหากศูนย์หน้าตัวของทีมเป้าเข้าฝักกันมากกว่านี้ก็มีสิทธิ์จะพาทีมรอดตกชั้นสำเร็จ
อย่างไรก็ตามแม้ว่าในส่วนของกองกลางจะช่วยกันแบกทีมมาทั้งฤดูกาล แต่ในแนวรับกลับเผยจุดอ่อนให้คู่ต่อสู้ทะลวงผ่านเข้าไปสอยตาข่ายได้ง่ายเกินไป โดยในฤดูกาลนี้ เลสเตอร์ เสียประตูให้คู่แข่งถึง 68 ประตู จาก 38 เกมลีก นั่นแปลว่าต่อให้เกมรุกทีมจะยิงประตูได้มากเท่าใด เกมรับของทีมก็พร้อมจะเชื้อเชิญให้คู่ต่อสู้สอยตาข่ายตนเองได้มากพอกัน นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่ทีมต้องกลับไปแก้ไขปัญหากันใหม่ในฤดูกาลหน้ากับลีกแชมเปี้ยนชิพนั่นเอง